ID | RBRU PUBLIC RELATIONS - Official Site

HOME > CONTENT > คน-ช้าง-ป่า จากปัญหา..สู่ปัญญาประดิษฐ์

คน-ช้าง-ป่า จากปัญหา..สู่ปัญญาประดิษฐ์
กฤติเดช มงคลกิจ

2021/07/27 09:00 น.  🔎 5951 Views

ทีมคณาจารย์คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.ราชภัฏรำไพพรรณี พัฒนาระบบ Ai-YARA ตรวจจับและแจ้งเตือนการบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมของช้าง ให้ชาวบ้าน 3 จังหวัดภาคตะวันออก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและป้องกันปัญหาช้างป่ารุกล้ำผ่านระบบสมาร์ทโฟน

คน ช้าง ป่า ปัญหาที่ไม่รู้จบ

พื้นที่อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ผืนป่าใหญ่แห่งภาคตะวันออก ดินแดนรอยต่อธรรมชาติที่สำคัญ เส้นทางหากินโขลงช้างและพื้นที่ทับซ้อนในด้านการเกษตร กำลังประสบปัญหาช้างป่าเรื้อรัง ทิศเหนือมีพื้นที่ติดกับอำเภอท่าตะเกียบ และผืนป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นส่วนใหญ่ ทิศตะวันออกติดกับผืนป่าที่สูงสุดของภาคตะวันออก ในอำเภอสอยดาวและอำเภอเขาคิชฌกูฏ และด้านทิศตะวันตกเชื่อมต่อกับเขาชะเมาจังหวัดระยอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ซึ่งล้วนแต่มีภูมิประเทศเหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของโขลงช้าง เมื่อความเจริญเริ่มขยายตัวเข้ามา พื้นที่ทำกินทางการเกษตรก็เริ่มแผ่เป็นวงกว้าง พร้อมกับการคมนาคมเพื่อลำเลียงผลผลิตออกสู่ตลาด แต่เมื่อทั้งคนและช้างต่างต้องอยู่ร่วมกัน ย่อมหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ตามมาแทบไม่ได้

เส้นทางช้างป่ากับปัญหาที่ดินทำกิน

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่นี่เล่าให้ทีมงานฟังว่า แต่เดิมไม่ค่อยมีปัญหาเช่นทุกวันนี้ ด้วยเพราะสมัยก่อนยังคงเป็นผืนป่า การพัฒนาที่ดินทำกินยังไม่กว้างขวาง แต่เมื่อเริ่มมีการเพาะปลูกพืชไร่และสวนผลไม้ นับเป็นแหล่งอาหารชั้นดีให้ช้างได้สัมผัสกับรสชาติผลผลิตของเกษตรกร ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการหากินของช้างทีละน้อยและขยายพันธุ์เป็นโขลงใหญ่ ทุกวันนี้มีช้างที่หลุดเข้าพื้นที่ไม่ยอมกลับป่าประมาณเกือบร้อยตัว กระจายทั่วทุกพื้นที่ของอำเภอแก่งหางแมว และอีกส่วนอาศัยอยู่นอกแนวคันกั้นรั้วกว่า 300 ตัวไปจนถึงพื้นที่จังหวัดตราด

ชาวบ้านยังเล่าให้ฟังอีกว่า ทุกครั้งที่มีการผลักดันช้าง จำเป็นต้องข่มช้างให้ตกใจกลัว ทั้งจุดประทัด เคาะเสียงดัง หรือใช้ไฟส่องสว่างไล่ หนักเข้าจนถึงขั้นวางรั้วลวดหนามไฟฟ้าในบางแห่งเพื่อปกป้องทรัพย์สินของตนเอง กระบวนการเหล่านี้เร่งให้เกิดพัฒนาการของช้างป่าในการเรียนรู้และต่อสู้ โดยเฉพาะในเวลาพลบค่ำช้างป่าจะเริ่มออกเดินทาง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ชาวบ้านออกกรีดยางจนถึงเช้า และเมื่อแสงไฟจากหมวกกรีดยางส่องประกาย ช้างป่าจึงเรียนรู้ในการปกป้องโขลงและวิ่งใส่จนถึงขั้นทำร้ายแก่ชีวิตดังปรากฎอยู่บ่อยครั้ง บ้างก็ว่ามีช้างบ้านที่ถูกนำมาปล่อยให้เป็นช้างป่าปนอยู่ด้วยจึงมีพฤติกรรมไม่กลัวคน ซึ่งยังคงไม่ได้รับการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว

จากปัจจัยเหล่านี้ ก่อให้เกิดความเสียหายจากการบุกรุกของทั้งคนและช้าง แม้จะมีหลายหน่วยงานร่วมใจแก้ไขแต่ก็ทำได้เพียงบรรเทาในระดับหนึ่งเท่านั้น การปลูกป่าแหล่งอาหารให้ช้าง การโปรยเมล็ดพันธุ์อาหารช้างลงในป่า ผลิตภัณฑ์เยื่อกระดาษและกระถางจากมูลช้าง ล้วนแต่เป็นการแก้ปัญหาเท่าที่ทุกหน่วยงานจะช่วยได้ ท้ายที่สุดวงจรชีวิตของคนและช้างยังคงอยู่ร่วมกัน

จากโมเดลต้นแบบสู่การต่อยอดด้วยเทคโนโลยี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชาญ ทุมทอง อาจารย์สาขาเทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ลงพื้นที่เพื่อจัดทำโครงการบริการวิชาการให้กับชาวบ้านในเขตพื้นที่ทุ่งควายกิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง 1 ใน 3 จังหวัดยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาท้องถิ่นของ ม.ราชภัฏรำไพพรรณี โดยการผลักดันและสนับสนุนจากพลอากาศเอกมานัต วงษ์วาทย์ อดีตผู้บังคับบัญชาทหารอากาศ พร้อมด้วยการสะท้อนปัญหาจากผู้นำชุมชนถึงปัญหาช้างป่า

จึงมีแนวคิดวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ Ai) วิเคราะห์ภาพจากกล้องที่ติดตั้งไว้บริเวณที่มีการผ่านเข้าออกของช้าง บนพื้นที่รอยต่อจากป่าสู่ชุมชน เพื่อตรวจจับและแจ้งเตือนการบุกรุกของช้างให้กับชาวบ้านและชุดอาสาสมัคร เพื่อผลักดันช้างก่อนจะเข้าพื้นที่ก่อความเสียหายกับภาคการเกษตร รวมไปถึงชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน โดยได้รับการสนับสนุนจาก บ.ธิงส์อนาไลติค จำกัด ที่อำนวยความสะดวกอุปกรณ์ในการทดลองและเจ้าหน้าที่ช่วยติดตั้งและเซ็ตระบบ และ บ.ทริปเปิลทีบรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่เฝ้าระวังช้าง ตลอดจนผู้ใหญ่บ้าน ชมรมเพื่อนช้างทุ่งควายกิน อำนวยความสะดวกในการเข้าพื้นที่และช่วยทีมปฏิบัติการ จนเกิดเป็นโมเดลเครื่องต้นแบบในนาม Ai-YARA ระบบตรวจจับและแจ้งเตือนการบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมของช้าง และนำไปสู่การลงพื้นที่ติดตั้งใช้งานจริงในอำเภอแก่งหางแมว 5 จุดของตำบลพวา ที่ประสบปัญหาช้างป่ามากที่สุดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก

Ai อัจฉริยะผสานเครื่องมือการเกษตรครบวงจร

ปฏิบัติการครั้งนี้ นำเครื่อง Ai-YARA (Artificial Intelligence for Your Agricultural and Rambhai Barni Applications) มีเป้าหมายติดตั้ง 5 จุดในตำบลพวา อ.แก่งหางแมว โดยเน้นตามจุดรอยต่อคันกั้นช้างที่พบปัญหาช้างป่าข้ามแนวรั้ว หลักการนี้ใช้อุปกรณ์และเครื่องมือเริ่มต้นอย่างง่าย ด้วยชุดกล้องวงจรปิด CCTV โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์บรรจุเข้าแบตเตอรี่ จากนั้นส่งสัญญาณภาพวิดีโอไปยังอุปกรณ์สื่อสารเราท์เตอร์ผ่านระบบซิม 4G ส่งเข้าไปที่ตัวประมวลผลวิเคราะห์ภาพและการเคลื่อนไหว (Motion Detect) ด้วยการพัฒนาให้ระบบจดจำภาพช้างป่ากว่า 1,500 ภาพ จนเกิดความแม่นยำของระบบได้ถูกต้องถึง 98% และจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนกลับไปยังสมาร์ทโฟน ผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ไปยังกลุ่มอาสาสมัครของหมู่บ้านในทันที ทำให้ทราบตำแหน่งของการตรวจพบเพื่อผลักดันช้างได้แม่นยำมากขึ้น

นอกจากนี้ยังสามารถรองรับการเชื่อมต่อเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรด้านอื่นๆ เช่น เซนเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ และด็อบเลอร์วัดแรงลม เพื่อนำผลที่ได้มาวิเคราะห์สำหรับวางแผนภาคการเกษตรในรูปแบบ Smart Farmer ได้อีกด้วย ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการขยายจุดติดตั้งตามพื้นที่ที่มีผู้เดือดร้อนได้ร้องขอความร่วมมือในการพัฒนาระบบมายังมหาวิทยาลัยต่อไป

บูรณาการฐานข้อมูลร่วมพัฒนาแก้ปัญหาช้างไปด้วยกัน

ล่าสุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชาญ ทุมทอง ได้ถวายรายงานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรมการโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในโอกาสเสด็จทรงงานเป็นการส่วนพระองค์ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา เกี่ยวกับระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการตรวจจับและแจ้งเตือนช้างป่า แต่ยังขาดระบบการจัดเก็บข้อมูล จึงได้ประสานงานกับโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เพื่อบูรณาการและพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยใช้ข้อมูลภาพช้างป่ามาพัฒนาโมเดล ในการตรวจจับช้างป่าและจัดเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของช้าง ร่วมกับ บริษัททรู คอร์เปอร์เรชั่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และรับมอบซิมโครงข่าย 4G สำหรับใช้ในโครงการ ตลอดจนได้รับคำแนะนำจากผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เสนอแนะแนวทางในการดำเนินการวิจัยและการพัฒนาเทคโลยีเอไอต่อไป

นอกจากนี้ การดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการคชานุรักษ์ในระยะต่อไป คือการรวบรวมข้อมูลจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ที่ได้ติดไว้โดยรอบพื้นที่ 5 จังหวัดภาคตะวันออก มารวบรวมข้อมูลไว้

ปัจจุบันโครงการต้นแบบที่อ่างเก็บน้ำเขาจุก ตำบลทุ่งควายกิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ยังคงพัฒนาควบคู่ไปพร้อมกับระบบตรวจจับและแจ้งเตือนช้างป่าที่ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว สามารถตรวจจับสัญญาณและแจ้งเตือนได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็ยังคงพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และพร้อมแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนเพื่อให้มีความเป็นอยู่ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

ติดต่อขอความช่วยเหลือปรึกษาปัญหาระบบแจ้งเตือนช้างป่า

สำหรับชุมชนและพื้นที่ใดที่ประสบปัญหาช้างป่าหรือภาคการเกษตรในลักษณะเดียวกันนี้ สามารถติดต่อขอคำปรึกษาด้านบริการวิชาการเพื่อแก้ปัญหาให้กับชุมชนของท่านได้ที่ คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี โทรศัพท์ 0-3931-9111 ต่อ 11100 อีเมล์ saraban@rbru.ac.th มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น


SHARE LineFacebookTwitterInstagramTikTokRedditTelegram   หน่วยประชาสัมพันธ์ งานบริหารงานทั่วไป กองกลาง สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี


ค้นหาบทความ
หน่วยประชาสัมพันธ์ งานบริหารงานทั่วไป กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
41 ม.5 ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทบุรี 22000 โทร.0-3931-9111 ต่อ 0 อีเมล์ saraban@rbru.ac.th
©2024 RBRU PUBLIC RELATIONS
POWERED BY : KRITIDECH MONGKOLKIT