ID | RBRU PUBLIC RELATIONS - Official Site

HOME > CONTENT > วัฒนธรรมร่วม ในพระราชพิธีอภิเษกสมรส

วัฒนธรรมร่วม ในพระราชพิธีอภิเษกสมรส
อนุพงษ์ กุลนรา

2021/10/06 10:49 น.  🔎 485 Views

วัฒนธรรมร่วม ในพระราชพิธีอภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ

เปิดบ้านเปิดเมือง : ความรุ่งเรืองจากวัฒนธรรมตะวันตก

วัฒนธรรมตะวันตก เป็นวัฒนธรรมที่เข้ามามีบทบาทหลายประการในวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวโลกตะวันออก ดังเช่นสังคมไทยเรา ซึ่งถือว่ามีการเปิดรับวัฒนธรรมจากตะวันตกมาอย่างช้านาน แต่ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดคือในช่วงราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เป็นผลมาจากการแผ่ขยายของวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สังคมไทยมีการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อความมั่นคงของประเทศ

วัฒนธรรมตะวันตกกับพระราชพิธีอภิเษกสมรส

การรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในระยะแรกนั้น ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกลุ่มของชนชั้นนำในสังคม ดังเช่นในงานพระราชพิธีอภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี หรือหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น พระราชพิธีดังกล่าวถือเป็นพระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรก หลังจากการตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทั้งสองพระองค์อภิเษกสมรสได้ งานอภิเษกสมรสถูกจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๖๑ โดยมีการประกอบพิธีอภิเษกสมรสพระราชทานขึ้น ณ วังศุโขทัย และพระราชพิธีอภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน ซึ่งพระราชพิธีดังกล่าวมีการนำแบบอย่างของการสมรสของชาวตะวันตกมาปรับใช้ในพระราชพิธีครั้งนี้ด้วย โดยพิธีอภิเษกสมรสมีการตั้งกระทู้ถามตอบคู่สมรสถึงความสมัครใจตามแบบของวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนจากบาทหลวงที่เป็นผู้ถาม เป็นมหาเสวกโทพระจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ (ลออ ไกรฤกษ์) และสมุหพระนิติศาสตร์ เป็นผู้ตั้งกระทู้กราบทูลและทูลถามแทนบาทหลวง

การผสานพิธีกรรมกับสองวัฒนธรรม

นอกจากการประกอบพิธีในแบบวัฒนธรรมตะวันตกแล้ว ในพระราชพิธีดังกล่าวยังคงมีการประกอบพิธีในแบบของวัฒนธรรมไทยด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฎและทรงเจิมที่พระนลาฏ (หน้าผาก) ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ตามลำดับ จากนั้นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงลงพระนามในสมุดทะเบียนแต่งงาน ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจดทะเบียนสมรสในพระราชวงศ์ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยเริ่มมีการปรับด้านโลกทัศน์ของการครองเรือนให้เป็นแบบตะวันตก

แม้ว่าสังคมไทยจะเปิดรับนำเอาวัฒนธรรมของซีกโลกตะวันตกมาใช้ แต่หาใช่เป็นการนำเอามาใช้ทั้งหมด ยังคงยึดถือวัฒนธรรมดั้งเดิมของสังคมไว้ด้วยเช่นเดียวกัน เพียงแต่มีการผสมผสานปรับใช้ให้เข้ากัน ภายใต้บริบททางสังคมที่เป็นอยู่ ดังเช่นพระราชพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมร่วมของทั้งสองวัฒนธรรม ที่หนุนเสริมให้พิธีกรรมมีความน่าสนใจ มีความเข้มขลังแห่งพิธีกรรม และมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น อันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป


SHARE LineFacebookTwitterInstagramTikTokRedditTelegram   หน่วยประชาสัมพันธ์ งานบริหารงานทั่วไป กองกลาง สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี


ค้นหาบทความ
หน่วยประชาสัมพันธ์ งานบริหารงานทั่วไป กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
41 ม.5 ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทบุรี 22000 โทร.0-3931-9111 ต่อ 0 อีเมล์ saraban@rbru.ac.th
©2024 RBRU PUBLIC RELATIONS
POWERED BY : KRITIDECH MONGKOLKIT