ID | RBRU PUBLIC RELATIONS - Official Site

HOME > CONTENT > ก๊าซเรือนกระจก เรื่องไม่ตลกกับสิ่งแวดล้อม

ก๊าซเรือนกระจก เรื่องไม่ตลกกับสิ่งแวดล้อม
อนุพงษ์ กูลนรา

2021/11/26 16:00 น.  🔎 3979 Views

ก๊าซเรือนกระจก เรื่องไม่ตลกกับสิ่งแวดล้อม

มนุษย์ ตัวการแห่งการเกิดก๊าซเรือนกระจก

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ทั่วโลกประสบอยู่เป็นอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ก็เกิดจากฝีมือของมนุษย์แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมักเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์

 

ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) หรือเรียกย่อๆ ว่า GHG คือก๊าซในบรรยากาศของโลกที่ดูดซับและปลดปล่อยรังสีอินฟราเรดร้อนออกมา โดยบางส่วนจะออกสู่ห้วงอวกาศ แต่บางส่วนก็จะสะท้อนความร้อนจากชั้นบรรยากาศกลับสู่พื้นผิวโลก ซึ่งเรียกว่าปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้การเกิดก๊าซเรือนกระจกนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ และเกิดจากการกระทำของมนุษย์

สำหรับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์นั้น ส่วนใหญ่แล้วมักจะมาจากภาคอุตสาหกรรม แต่ในขณะเดียวกันภาคเกษตรกรรมก็ส่งผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้การดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ก็มีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกด้วย เช่น การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในยานพาหนะ การทิ้งเศษอาหารหรือขยะ การใช้เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ก๊าซเรือนกระจก ส่งผลกระมากมายหลายอย่างต่อโลกของเรา โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน โดยก๊าซเรือนกระจกสำคัญ ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลกเรานั้น มีด้วยกัน 5 ชนิด ดังนี้

1. คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกสูงสุด ถึงร้อยละ 75 และเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการสะสมพลังงานความร้อนในชั้นบรรยากาศมากที่สุด โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีอายุอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานถึง 200 ปี

2. มีเทน เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากเป็นลำดับที่ 2 เป็นก๊าซในธรรมชาติที่เกิดจากย่อยสลายของเสียต่าง ๆ และเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การกำจัดขยะด้วยวิธีการฝังกลบ การเผาไม้เชื้อเพลิง ในการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะฟาร์มปศุสัตว์ทั้งหลาย ก๊าซมีเทนสามารถคงอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกได้ราว 12 ปี ซึ่งถือว่ามีอายุสั้นที่สุดในบรรดากลุ่มก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด แต่มีคุณสมบัติในการกักเก็บความร้อนได้ดีกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 84 เท่า

3. ไนตรัสออกไซด์ เป็นก๊าซในธรรมชาติ โดยมีแหล่งกำเนิดจากแบคทีเรียต่าง ๆ ทั้งในดินและในมหาสมุทร รวมถึงการย่อยสลายของอินทรียวัตถุ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน ภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ที่เกิดจากกรกระทำของมนุษย์ก็ก่อให้เกิดการปลดปล่อยไนตรัสออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกได้เช่นกัน โดยไนตรัสออกไซด์มีอายุเกินหนึ่งศตวรรษในชั้นบรรยากาศโลก

4. ฟลูออริเนต หรือ สารฮาโลคาร์บอน เป็นกลุ่มก๊าซที่ประกอบไปด้วยไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) และไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) รวมถึงสารซีเอฟซี (CFCs) ที่เกิดจากการสังเคราะห์ของมนุษย์ ก๊าซเหล่านี้มีคุณสมบัติในการกักเก็บความร้อนได้ดีกว่าคาร์บอนไดออกไซด์หลายพันเท่าและอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ตั้งแต่ 100 ถึง 50,000 ปี

และ 5. ไอน้ำ และโอโซนภาคพื้นดิน เป็นก๊าซเรือนกระจกตามธรรมชาติที่ช่วยส่งเสริมให้ผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นรุนแรงยิ่งขึ้น ไอน้ำจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นหากบรรยากาศโลกอบอุ่นขึ้น สำหรับโอโซนบนภาคพื้นดินนั้น เกิดจากปฏิกิริยาโฟโตเคมิคัล ระหว่างไนโตรเจนออกไซด์ ที่อยู่ในไอเสียของเครื่องยนต์ หรือไอเสียจากโรงงาน สารอินทรีย์ระเหย และรังสีอัลตราไวโอเลต ก่อให้เกิดโอโซนในระดับต่ำซึ่งมีคุณสมบัติเป็นก๊าซเรือนกระจกและถือเป็นมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

ก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดนั้น มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นตัวการที่ทำให้เกิดขึ้นแทบทั้งสิ้น ซึ่งแต่ละชนิดนั้นก็มีอานุภาพที่ส่งผลเสียต่อโลกของเราไม่ใช่น้อยเช่นกัน ดังนั้นพวกเราทุกคนจึงต้องหันมาร่วมด้วยช่วยกัน ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันนะครับ เพื่อโลกของเรา และเพื่อตัวเรา


SHARE LineFacebookTwitterInstagramTikTokRedditTelegram   หน่วยประชาสัมพันธ์ งานบริหารงานทั่วไป กองกลาง สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี


ค้นหาบทความ
หน่วยประชาสัมพันธ์ งานบริหารงานทั่วไป กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
41 ม.5 ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทบุรี 22000 โทร.0-3931-9111 ต่อ 0 อีเมล์ saraban@rbru.ac.th
©2024 RBRU PUBLIC RELATIONS
POWERED BY : KRITIDECH MONGKOLKIT