2023/03/14 09:00 น. 🔎 432 Views 🖨️ |
|
มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ร่วมกับธนาคารออมสิน จัดเวทีนำเสนอโครงการย่อย ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2566 เพื่อส่งเสริมการนำวิทยาการสมัยใหม่ของมหาวิทยาลัย ไปบูรณาการร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 (09:00 น.)
การนำเสนอโครงการย่อย ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น 2566 (GSB Startup Academy) ณ ห้องประชุมวิษณุกรรมประสิทธิ์ ชั้น 2 อาคารคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (อาคาร 38) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ไวกูณฑ์ ทองอร่าม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ให้การต้อนรับ นางสาวดุษดี ธัญญารักษ์ ผู้จัดการธนาคารออมสินสาขาจันทบุรี พร้อมเป็นประธานเปิดการนำเสนอโครงการย่อย ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น 2566 ซึ่งเป็นความร่วมมือของสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และธนาคารออมสิน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อาภาพร บุญมี ผู้ช่วยอธิการบดีกล่าวรายงาน ในส่วนของการนำเสนอโครงการย่อย ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2566 จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้นักศึกษานำวิทยาการสมัยใหม่ของมหาวิทยาลัย ไปบูรณาการร่วมกับภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น เสริมสร้าง พัฒนา ยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการในชุมชนให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น รวมถึงสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ตอบสนองความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบันได้ โดยในปี 2566 นี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีได้ส่งโครงการใหญ่ 1 โครงการ แบ่งเป็น 6 โครงการย่อย ที่ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราด ซึ่งในวันนี้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จะได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นต่อคณะกรรมการธนาคารออมสิน เพื่อนำผลงานไปปรับปรุง พัฒนา สำหรับการนำเสนอโครงการในภาพรวมของโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น 2566 ที่จะจัดขึ้นช่วงเดือนตุลาคม 2566 สำหรับโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นนั้น เป็นการดำเนินการเสริมสร้างพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งธนาคารออมสินได้ร่วมกับนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา ในการบูรณาการภูมิปัญญา นำวิทยาการกระบวนการทำงานสมัยใหม่ ไปยกระดับขีดความสามารถกลุ่มองค์กรชุมชนที่รวมตัวกันสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการ ให้มีศักยภาพ มีมูลค่าเพิ่ม แข่งขันในตลาดได้ โดยปัจจุบันมีสถาบันการศึกษามากกว่า 60 สถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมกันพัฒนากว่า 500 ภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ