ประชาสัมพันธ์ : RBRU PUBLIC RELATIONS
ประชาสัมพันธ์ หรือ PR เป็นงานที่ต้องสร้างภาพลักษณ์ที่ดี กระตุ้นชื่อเสียงและทัศนคติที่ดีของสาธารชนให้มีต่อมหาวิทยาลัย หลักการทำงานที่สำคัญของ PR คือการเข้าใจในการให้บริการด้านการศึกษาว่ามีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อย่างไร เพื่อนำมาสร้างสรรค์ขอบข่ายแผนประชาสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับมหาวิทยาลัย โดยเน้นทั้งสร้างความรับรู้แก่สาธารณชน สร้างความน่าเชื่อถือด้านคุณภาพการจัดการศึกษา รวมถึงกิจกรรมพิเศษอื่น ๆ ที่แสดงถึงความรับผิดชอบด้านชุมชนและสังคมหรือสิ่งแวดล้อมด้วย (CSR)
ในส่วนการวางแผนงานหรือโครงการเพื่อการประชาสัมพันธ์ PR ต้องทำหน้าที่คิดวางแผนร่วมกับนักวางแผนกลยุทธ์ (Strategy Planner) และนักการตลาด (Marketing Specialist) เมื่อได้ไอเดีย และผ่านมติจากผู้บริหารเรียบร้อย PR ต้องเตรียมข้อมูลสำหรับการประชาสัมพันธ์โครงการนั้น อาทิ จัดทำข่าวสาร ข้อมูลและข้อความที่จะใช้ในการส่งให้สื่อต่าง ๆ รวมทั้งจัดทำสิ่งพิมพ์เพื่อสื่อสารสู่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบแผ่นพับ จดหมายข่าว หรือบทความ PR ต้องเลือกช่องทางการสื่อสารทั้ง offline และ online การติดต่อผู้สื่อข่าวต่าง ๆ และเมื่อข่าวต่าง ๆ ออกสู่สาธารณชนแล้วจะต้องจัดเก็บข่าว พิจารณาผล และทำการประเมินเพื่อปรับปรุงแก้ไขในโครงการถัดไป
ขั้นตอนการทำงาน
- รับโจทย์จากผู้บริหารเรื่องทิศทางนโยบายของกิจกรรมหรือแผนงานต่าง ๆ
- ตีความโจทย์ของการประชาสัมพันธ์ของงานที่ได้รับมอบหมาย
- คุยงานกับนักสร้างกลยุทธ์การตลาดและแผนงาน (Strategic Planner) เพื่อสร้างกลยุทธ์และคิดไอเดียในการประชาสัมพันธ์ขึ้นมา
- เลือกสรรเครื่องมือหรือช่องทางการสื่อสารที่สอดคล้องกับแผนที่วางไว้ผ่านช่องทาง หรือ กิจกรรมสาธารณชนต่าง ๆ
- นำแผนกลยุทธไปนำเสนอกับหน่วยงานต้นเรื่อง เมื่อรับความเห็นจากหน่วยงานแล้ว PR จะต้องกลับมาเขียนงาน หรือ press release ในรูปแบบของข่าวประชาสัมพันธ์
- มอบฝ่ายผลิต (Content Developer) ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ให้เหมาะสม
- เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องที่ต้องการโปรโมทผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ ที่กำหนดไว้
- ติดตามข่าวการประชาสัมพันธ์ที่ได้จัดทำขึ้น สังเกตผลการตอบรับ รวบรวมผลการสื่อสาร โดยรวบรวมเก็บในรูปแบบกฤตภาคไว้ (clipping) หากเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ หรืออัดวิดีโอหรือดาวน์โหลดคลิปข่าวนั้น ๆ จากสื่อโทรทัศน์หรือสื่อออนไลน์ที่พบเห็น เก็บลงในระบบสารสนเทศ
- ทำการประเมินคุณภาพ งบประมาณ และผลการประชาสัมพันธ์ในทุกครั้ง เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาในครั้งต่อไป
- หากมีข่าวเสียหาย หรือภาพลักษณ์ด้านลบ นักประชาสัมพันธ์ต้องหากลยุทธ์ในการแก้ไขและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้มหาวิทยาลัยกลับมาใหม่อีกครั้ง
สถานที่ทำงาน
- สำนักงานประชาสัมพันธ์ : PR ส่วนใหญ่จะอยู่ในออฟฟิศส่วนกลาง เพราะถือเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยในทุก ๆ ด้านและทุกผลิตภัณฑ์และการบริการที่มหาวิทยาลัยต้องการนำเสนอ ดังนั้นการทำงานส่วนใหญ่ในการประชุมกับผู้บริหาร ทีมงาน เขียนข่าว จะเป็นสำนักงานของต้นสังกัดนั้น ๆ
- สำนักข่าว : กลไกหนึ่งที่จะช่วยสื่อสารประชาสัมพันธ์งานของมหาวิทยาลัยได้ ต้องเกิดจากการติดต่อประสานงานกับสำนักข่าวต่าง ๆ โดย PR ต้องสานสัมพันธ์อันดีกับนักข่าว เพื่อส่งข่าวสารให้กับสื่อต่าง ๆ เหล่านี้เป็นประจำ
- สถานที่จัดกิจกรรม (ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ) : การประชาสัมพันธ์นั้นรวมไปถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ การจัดงานแถลงข่าวของมหาวิทยาลัย ซึ่ง PR จะเป็นหน่วยงานที่ต้องจัดเตรียมงานสถานที่ รวมทั้งติดต่อ ดูแล ให้นักข่าวมายังสถานที่จัดงานนั้น ๆ ด้วย ในบางครั้งอาจจะเป็นต่างจังหวัดหรือต่างประเทศตามแต่จะได้รับมอบหมาย
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
- นักการตลาดและนักวางแผนกลยุทธ์ ถือเป็นทีมที่ช่วยคิดแผนประชาสัมพันธ์ในแต่ละโครงการ โดยนักการตลาดจะให้ข้อมูลด้านการตลาดและความสนใจของผู้บริโภคและกลุ่มเป้าหมายในช่วงเวลานั้น นักวางแผนกลยุทธ์จะช่วยวางแผนหาช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมกับช่วงเวลานั้น ๆ เพื่อให้ PR ดำเนินการประชาสัมพันธ์ได้อย่างเหมาะสมและตรงกลุ่มเป้าหมาย
- คณะกรรมการประชาสัมพันธ์หรือเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ประจำหน่วยงาน โดยหารือและร่วมวางแผนการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และการผลิตสื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์และสอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการ
- ผู้บริหาร PR ต้องนำเสนอแผนการประชาสัมพันธ์ให้กับผู้บริหาร และเตรียมกิจกรรมแถลงข่าวต่าง ๆ ซึ่งต้องเชิญผู้บริหารเข้าร่วมงานด้วยในทุก ๆ ครั้ง
- นักข่าว โดย PR ต้องสานสัมพันธ์อันดีนักข่าวเพื่อส่งข่าวสารให้กับสื่อต่าง ๆ เป็นระยะ นักข่าวจึงเป็นกลุ่มคนที่ PR ต้องทำงานด้วยเป็นอันดับต้น ๆ
คุณสมบัติที่เหมาะสมกับงานประชาสัมพันธ์
- มีมนุษย์สัมพันธ์ดี : งาน PR เป็นงานที่ทำงานกับคนเกือบ 100 % ดังนั้น เราต้องเป็นคนที่ชอบสื่อสารพูดคุยและสนุกกับการติดต่อ สานสัมพันธ์กับผู้คนใหม่ ๆ อยู่เสมอ
- ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ : การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทั้งข่าวสาร เทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องมือใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในงานทำงานของตน จะทำให้ระดับการทำงานพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ
- ละเอียดรอบคอบ : เป็นคุณสมบัติที่สำคัญในทุกสายอาชีพ แต่ด้วยงาน PR เป็นงานที่สะท้อนถึงภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยและผู้บริหาร จึงถือเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นต้องมี
- มีความอดทนสูง : การทำงานกับผู้คนที่หลากหลาย บางครั้งการควบคุมความคิดหรือเวลาของคนทุกคนในเวลาเดียวกันเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้ความอดทนสูง หากเรามีสติและรู้จักแก้ปัญหาจะช่วยให้งานของเราราบรื่น โดยไม่เผลอสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นลบจนอาจทำให้มหาวิทยาลัยเสียหาย
หากเป็นช่วงที่มีงานหรือการแถลงข่าวสำคัญ จะเป็นช่วงเวลาที่ PR ต้องทำงานหนัก มีปริมาณงานมากและแต่ละงานต้องทำอย่างมีคุณภาพ เพราะล้วนส่งผลต่อภาพลักษณ์และความรู้สึกของผู้อื่นที่มีต่อมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก และเนื่องจากงาน PR ต้องพร้อมทำงานตลอดเวลา หากมีการติดต่อจากสำนักข่าวหรือผู้ที่สนใจร่วมงานใด ๆ PR ต้องพร้อมทั้งข้อมูลและการตอบคำถามที่ถูกต้องเหมาะสม แม้จะเป็นวันหยุดก็ตาม
ทักษะที่ควรมี
- ทักษะการสื่อสาร การต้องพบปะพูดคุยโดยเฉพาะกับสื่อมวลชนเป็นงานหลักของ PR ดังนั้น ทักษะการสื่อสารทั้งการเขียนและพูดถือเป็นสิ่งที่อาชีพนี้ขาดไม่ได้
- ทักษะความการบริหารจัดการ ทั้งการบริหารเวลา การจัดการคนเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะ PR จะต้องเจอกับงานอีเว้นท์ กิจกรรม งานแถลงข่าวมากมาย และบ่อยครั้งมาในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวและใกล้เคียงกัน
- ทักษะการแก้ไขปัญหา การตัดสินใจที่เด็ดขาดเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะหากมีสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ทักษะนี้จะเพิ่มพูนได้จากประสบการณ์ที่สั่งสมจากทำงานจัดการหรือกิจกรรมี่หลากหลาย
- ทักษะการพูด หลายครั้งที่ PR ต้องนำการประชุม เป็นพิธีกร หรือต้องพูดต่อหน้าสาธารณชน ดังนั้นการพูดที่คล่องแคล่ว เข้าใจง่ายและตรงประเด็นจะสร้างความประทับใจแก่ผู้อื่น และช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ตนเองและมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้นด้วย
- ทักษะการเขียน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากข่าวต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยที่ส่งออกไปยังสื่อมวลชน ล้วนมาจากทีม PR ทั้งสิ้น การเขียนข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และมีสำนวนที่สร้างความประทับใจและภาพลักษณ์ที่ดีของมหาวิทยาลัย อันเป็นเป้าหมายสำคัญของการทำงานของวิชาชีพ
- ทักษะภาษาอังกฤษ เป็นอีกช่องทางที่จะช่วยพัฒนาวิชาชีพของ PR ให้ไปไกลอีกขั้น และจำเป็นขึ้นมากในปัจจุบัน เพราะสื่อต่างชาติเป็นหนึ่งปัจจัยที่ช่วยขยายการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยก้าวไปอีกขึ้น
การศึกษา
สำเร็จการศึกษาจากนิเทศศาสตรบัณฑิต บริหารธุรกิจบัณฑิต ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาประชาสัมพันธ์ การตลาด ภาษาอังกฤษ หรือสาขาใกล้เคียง โดยคณะที่เกี่ยวข้องได้แก่
- คณะนิเทศศาสตร์
- คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
- คณะบริหารธุรกิจ
- คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
- คณะศิลปศาสตร์
อาชีพที่ใกล้เคียงกับนักประชาสัมพันธ์ อาทิ ที่ปรึกษาทางด้านการประชาสัมพันธ์ (PR Agency),
นักสื่อสารการตลาด (Marketing Communication),
นักสื่อสารองค์กร,
นักวางแผนกลยุทธ์การสื่อสาร (Communication Strategic Planner),
เจ้าหน้าที่ด้านการส่งเสริมการตลาดการขาย,
เจ้าหน้าที่บริหารงานลูกค้า,
เจ้าหน้าที่ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์,
ผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์