ID | RBRU PUBLIC RELATIONS - Official Site

HOME > CONTENT > เกาะหมาก ปะการังอันดับ 2 ของโลก

เกาะหมาก ปะการังอันดับ 2 ของโลก
ปวีย์ธิดา วราพรพิสิฐกุล

2023/05/15 09:34 น.  🔎 438 Views

ชุมชนเกาะหมากจังหวัดตราด คว้ารางวัลอันดับ 2 ของโลก ด้านการจัดการและการฟื้นฟูปะการัง โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์ปะการังในการดำเนินงานการปลูกและฟื้นฟูปะการังด้วย พีวีซี

จุดเริ่มต้นของปะการัง

สืบเนื่องจากอาจารย์ประสาน แสงไพบูลย์ หัวหน้าโครงการฟื้นฟูปะการัง ผู้ริเริ่มโครงการแนวคิดด้านการขยายพันธุ์และฟื้นฟูปะการังด้วยท่อพีวีซี เป็นครั้งแรกของโลก   ได้เกษียณราชการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และได้มอบงานต่อให้กับ ผศ.ดร.ชุตาภา คุณสุข คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ได้เข้ามาเป็นหัวหน้าโครงการฟื้นฟูปะการัง โดยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการขยายโครงการมายังเกาะกูด จังหวัดตราด ในปี 2562 เกาะสีชัง และเกาะหมากในปี 2563 และได้เริ่มทำงานวิจัยโครงการฟื้นฟูปะการัง พื้นที่เกาะกูด จังหวัดตราด ปี 2563-2566

เมื่อระบบนิเวศถูกทำลาย

พื้นที่ในเขตเกาะกูด เกาะหมาก เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินิยมมาเที่ยวพักผ่อนกันเป็นจำนวนไม่น้อย และเพิ่มขึ้นในทุกๆปี และทุกครั้งที่นักท่องเที่ยวมาเกาะ ส่วนใหญ่ก็จะชอบดำน้ำดูปะการังซึ่งเป็นจุดขายนึงที่นักท่องเที่ยวชอบมาก นอกจากนี้ที่พลาดไม่ได้ ก็อาหารทะเลที่นักท่องเที่ยวเมื่อมาถึงเกาะแล้วก็ต้องการที่จะทานกันอย่างเต็มที่ และยังมีกิจกรรมทางน้ำอีกมากมายที่ให้นักท่องเที่ยวได้สนุกสนานกัน ดังนั้นแน่นอนว่า ที่ไหนมีนักท่องเที่ยวไปมากๆก็จะทำให้ระบบนิเวศนั้นมีความเสื่อมโทรมลงไป

ปะการังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ

ดังนั้นคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเห็นว่า การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของประชากรสัตว์ทะเลที่เข้าอยู่อาศัยในพื้นที่ระบบนิเวศปะการังที่มีการฟื้นฟู  จึงเป็นการทำงานพัฒนาท้องถิ่น เพื่อการขับเคลื่อนเรื่องทะเลและชายฝั่ง โดยใช้ปะการังเป็นฐาน พื้นที่ภาคตะวันออก ควบคู่กันไปด้วย  

ร่วมด้วยช่วยกันรักษาระบบนิเวศทางทะเล

ในปี 2565 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และมูลนิธิรักษ์ปะการัง โดยความอุปถัมภ์ของบริษัทเอจีซี วีนิไทย จำกัด มหาชน ร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะกระบวนการเกี่ยวกับการศึกษาสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อที่จะช่วยกันรักษาระบบนิเวศทางทะเลให้ยั่งยืน โดยอาจารย์ประสาน แสงไพบูลย์ หัวหน้าโครงการฟื้นฟูปะการัง ได้ออกแบบแนวคิดด้านการขยายพันธุ์และฟื้นฟูปะการังด้วยท่อพีวีซี และนำกระบวนการทั้งหมดส่งต่อให้กับ ผศ.ดร.ชุตาภา คุณสุข คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี สืบสานการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลโดยฟื้นฟูปะการัง ให้กับนักศึกษาและประชาชนในพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง 

เกาะหมาก ปะการังอันดับ 2 ของโลก

วันนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูปะการัง เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศของท้องทะเล โดยเฉพาะที่เกาะหมาก ที่เป็นเกาะขนาดกลางแห่งหมู่เกาะช้าง ทะเลตราด ที่ตั้งอยู่ระหว่างเกาะช้างกับเกาะกูด บนเกาะมีอ่าวและหาดหลายแห่งที่น่าสนใจและเหมาะแก่การท่องเที่ยว เกาะหมากยังเป็นจุดเชื่อมโยงไปยังเกาะอื่น ๆ เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ดำน้ำดูประติมากรรมช้างใต้ทะเล ดำน้ำดูปะการังเกาะยักษ์ หมู่เกาะรังได้อีกด้วย
เกาะหมากจึงได้ ขึ้นชื่อในเรื่องการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมท่องเที่ยวแบบ “โลว์คาร์บอน” หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมการท่องเที่ยวบนเกาะด้วยการปั่นจักรยาน พายเรือคายัก ส่งเสริมให้ร้านอาหารและโรงแรมใช้วัตถุดิบทำอาหารต่าง ๆ ที่หาได้บนเกาะ ปั่นจักรยานอีกหนึ่งกิจกรรมโลว์คาร์บอนบนเกาะหมาก

ด้วยเหตุนี้เกาะหมากจึงถูกคัดเลือกให้เป็นเกาะต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย ด้านความปลอดภัย และด้านการจัดการขยะ ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว (2565) เกาะหมากได้รับเลือกเป็น 1 ในแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก ประจำปี 2565 ซึ่งถือเป็นรางวัลใหญ่ระดับโลกของเกาะหมาก

ก่อนที่จะคว้ารางวัล 2023 GREEN DESTINATIONS STORY AWARDS ซึ่งเป็นรางวัลระดับโลกรางวัลที่ 2 ของเกาะหมากที่มีความโดดเด่นด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย

หนึ่งในการขับเคลื่อนฟื้นฟูปะการังรางวัลระดับโลก

โครงการฟื้นฟูปะการังของ มหาวิทยาลัยราชภักรำไพพรรณี ยังคงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้า เพื่อพัฒนาท้องถิ่นด้านการขับเคลื่อนเรื่องทะเลและชายฝั่ง โดยใช้ปะการังเป็นฐาน  ใช้งานวิจัยในการแก้ไขปัญหาด้านความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ และทรัพยากร โดยใช้แผน วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ของกระทรวงการอุดมศึกษาฯหรือ (อว.)  เพื่อบริการวิชาการแก่หน่วยงานในท้องถิ่น สื่อสารการรับรู้เรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการังให้คนที่ใช้ประโยชน์ได้เข้าใจ และสร้างภาคีเครือข่ายให้ขยายไปในพื้นที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน  และการปล่อยคาร์บอนให้เท่ากับ 0  

และนี่คืออีกหนึ่งความภาคภูมิใจของพวกเรา มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนชุมชน สังคม และประเทศไทยให้ก้าวไกลไปสู่ระดับโลกอย่างยั่งยืน


SHARE LineFacebookTwitterInstagramTikTokRedditTelegram   หน่วยประชาสัมพันธ์ งานบริหารงานทั่วไป กองกลาง สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี


ค้นหาบทความ
หน่วยประชาสัมพันธ์ งานบริหารงานทั่วไป กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
41 ม.5 ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทบุรี 22000 โทร.0-3931-9111 ต่อ 0 อีเมล์ saraban@rbru.ac.th
©2024 RBRU PUBLIC RELATIONS
POWERED BY : KRITIDECH MONGKOLKIT