ID | RBRU PUBLIC RELATIONS - Official Site

HOME > CONTENT > ผลวิจัยใบชะมวง สร้างคุณค่าสู่อาหารเป็นยาจันทบุรี

ผลวิจัยใบชะมวง สร้างคุณค่าสู่อาหารเป็นยาจันทบุรี
ปวีย์ธิดา วราพรพิสิฐกุล

2023/06/06 15:36 น.  🔎 1324 Views

ราชภัฏรำไพพรรณีนำร่องโครงการอาหารเป็นยา ส่งเสริมการใช้สมุนไพรพื้นบ้านในอาหารและเครื่องดื่ม สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจ เสริมความเข้มแข็งให้ชุมชน

รู้จักสมุนไพรใบชะมวง พืชประจำท้องถิ่นจันทบุรี

พื้นที่จันทบุรี เป็น 1 ใน 14 จังหวัดเมืองสมุนไพรของประเทศ มีการปลูกพืชสมุนไพรจำหน่ายเป็นรายได้ และมีการส่งเสริมการใช้สมุนไพรอย่างครบวงจร ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมสินค้าเกษตร และอาหารภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เปิดเผยถึงผลงานการวิจัยจากใบชะมวง ภายใต้แนวคิด อาหารเป็นยาวิถีคนจันท์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของสมุนไพรไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล สร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการบริโภคอาหารให้เป็นยา โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เดือนรุ่ง เบญจมาศ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร ได้นำใบชะมวงมาศึกษาวิจัย พบว่ามีสารแอนตี้ออกซิแดนท์สูง มีคุณค่าทางโภชนาการและมีประโยชน์ในการช่วยส่งเสริมดูแลสุขภาพ ทั้งนี้ ชะมวงเป็นอาหารประจำถิ่นที่มีหลากหลายเมนู ทั้งในระดับครัวเรือนและภัตตาคารของภาคตะวันออก การนำสมุนไพรมาใช้ในอาหารเหล่านี้ จะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านตำรับอาหารตามวิถีธรรมชาติที่เหมาะสม สร้างรายได้และเศรษฐกิจให้กับประเทศ นำครัวไทยสู่ครัวโลก

ใบชะมวงถูกยกให้เป็นพืชประจำถิ่นจังหวัดจันทบุรี

ใบชะมวงเป็นพืชที่เราพบได้ค่อนข้างมากในจังหวัดจันทบุรี เป็นที่รู้จักกันในนามของหมูชะมวงเมืองจันท์ ซึ่งใครมาจังหวัดจันทบุรีก็ต้องถามถึง วันนี้ชะมวงก็ถูกโหวตให้เป็นพืชสมุนไพรประจำถิ่นของจังหวัดจันทบุรี  ชะมวง ก็เลยกลายเป็นนางเอกของเรา ดังนั้น ผศ.ดร.เดือนรุ่ง เบญจมาศ จึงได้เอาชะมวงมาทำการวิจัยค้นคว้า เพราะเชื่อว่าชะมวงนั้นเป็นได้มากกว่าเมนูหมูชะมวง เพื่อสร้างโอกาสในด้านอาหารเป็นยาให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดจันทบุรี

ผลการวิจัยใบชะมวง

ผศ.ดร.เดือนรุ่ง เบญจมาศ เล่าให้ฟังว่า การวิจัยเริ่มต้นจากการเก็บใบชะมวงมาวัดสารต้านอนุมูลอิสระ โดยใช้วิธีหลายวิธี ทั้งสกัดด้วยน้ำร้อน เอทานอล และท้ายที่สุด เราก็เจอสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่มีมากในใบชะมวง ก็จะไปพิสูจน์ว่าสารนั้นมันชื่อว่าอะไร แล้วก็ได้ชื่อที่พบเจอคือ กลุ่มฟีนอลิก และ กลุ่มคาเทชิน แสดงว่า จังหวัดจันทบุรีเลือกไม่ผิด ที่นำใบชะมวงมาใช้เป็นสมุนไพรประจำจังหวัด ใบชะมวงเมื่อเขามีสารต้านอนุมูลอิสระสูง โดยเฉพาะกลุ่มฟลาโวนอยด์ งานวิจัยเรายังบอกด้วยว่า ตัวคาเทชิน คือสารที่สามารถเอาไปลดของเสียในร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มไขมันกลุ่มคอเลสเตอรอลที่สำคัญคือ คาเทชิน ยังสามารถลดความอ้วนได้อีกด้วย ดังนั้นก็เลยเตรียมนำไปสร้างเมนูใหม่ๆ ทั้งประเภทต้ม เอาไปทานสด หรือว่านำไปหมัก เราก็จะได้รับสารคาเทชิน หรือ ฟลาโวนอยด์ จากใบชะมวงได้เช่นกัน

วิธีการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

วิธีการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เป็นวิธีการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยอาศัยหลักการแคลอรีเมตรี ที่เกิดจากสารอนุมูลอิสระ DPPH ในเมทานอลทำปฏิกิริยากับสารสกัดสมุนไพร ถ้าในสารสกัดนั้นมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จะทำให้สารอนุมูลอิสระ DPPH ที่เป็นสีม่วงเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองของสาร DPPH ในสภาวะที่เป็นกลาง ในการหาประมาณต้านอนุมูลอิสระ ทำได้โดยการวัดค่าการดูดกลืนแสงที่ความยาวคลื่น 517 นาโนเมตร โดยมีหลักการทดลองดังสมการ

การสกัดใบชะมวงสดด้วยน้ำ

นำใบชะมวงมาล้างให้สะอาด หั่นให้ละเอียด นำใบชะมวงที่หั่นละเอียดแล้วมา 20 กรัม เติมน้ำกลั่น 100 มิลลิลิตร นำมาสกัดที่อุณหภูมิ 60 ํC เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง นำมากรองเก็บ ส่วนสารละลายที่ได้นำมาเจือจางที่ความเข้มข้นต่าง ๆ  ต่อด้วยการวัดค่า DPPH ในใบชะมวงสด เริ่มจากการดูดสารละลาย DPPH 2900 ไมโครลิตร ดูดสารสกัด 100 ไมโครลิตร เก็บไว้ในที่มืด 5 นาที นำไปวัดค่าการดูดกลืนแสงด้วยเครื่อง Spectrophoto meter ที่ความยาวคลื่น 517 นาโนเมตร วัดค่าของ Control ควบคู่ไปด้วย (ดูดสารละลาย DPPH 2900 ไมโครลิตร)  จากนั้นนำค่าการดูดกลืนแสงที่วัดได้ไปคำนวณหาค่าเปอร์เซ็นต์การต้านอนุมูลอิสระ (%lnhibition) DPPH

เพียงถือใบชะมวงเข้ามาเราพร้อมให้คำปรึกษาฟรี

ล่าสุด ผศ.ดร.เดือนรุ่ง เบญจมาศ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และเป็นผู้จัดการศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมสินค้าเกษตรและอาหารภาคตะวันออก ได้นำใบชะมวงสกัดออกมาเป็นแคปซูลและเครื่องดื่ม และยังนำไปเป็นสารตั้งต้นในเรื่องของวัตถุดิบอื่น ไม่ว่าจะแปรรูปเป็นเครื่องดื่มชนิดชง ส่วนวัยรุ่นที่ชอบแบบเซ็ต ก็จะนำเอาสารสกัดชะมวงไปร่วมกับโปรตีน วิตามิน และคอลลาเจน เพื่อจะทำเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ที่จะทำให้ง่ายต่อการบริโภค อร่อย และยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย เป็น 3 ทางเลือกให้กับผู้ประกอบการ ที่สามารถแวะเวียนเข้ามาขอคำปรึกษาได้ ณ ตอนนี้ ส่วนขั้นตอนและวิธีการก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่ผู้ประกอบการมีใบชะมวง แล้วก็ตั้งใจที่อยากจะเรียนรู้ เข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เราพร้อมยินดีให้คำแนะนำฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มุ่งมั่นสร้างองค์ความรู้ให้กับท้องถิ่น และส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนาตนเองได้สู่ความยั่งยืน


SHARE LineFacebookTwitterInstagramTikTokRedditTelegram   หน่วยประชาสัมพันธ์ งานบริหารงานทั่วไป กองกลาง สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี


ค้นหาบทความ
หน่วยประชาสัมพันธ์ งานบริหารงานทั่วไป กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
41 ม.5 ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทบุรี 22000 โทร.0-3931-9111 ต่อ 0 อีเมล์ saraban@rbru.ac.th
©2024 RBRU PUBLIC RELATIONS
POWERED BY : KRITIDECH MONGKOLKIT