ID | RBRU PUBLIC RELATIONS - Official Site

HOME > CONTENT > Gen A สาขาพัฒนาชุมชน คว้า 2 รางวัลระดับประเทศ

Gen A สาขาพัฒนาชุมชน คว้า 2 รางวัลระดับประเทศ
ปวีย์ธิดา วราพรพิสิฐกุล

2023/10/04 15:19 น.  🔎 273 Views

กลุ่มนักศึกษา Gen A สาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี คว้ารางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศระดับประเทศ

นักศึกษา Gen A คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศ

มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ขอร่วมแสดงความยินดีกับความสำเร็จ ของนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ในการเข้าแข่งขันโครงการ GE ชวนคุณทำดีเพื่อสังคม โครงการจิตอาสา ปีที่ 12 ประจำปี 2566 ระดับประเทศ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม โดยนำเสนอโครงการ "วิถีชองจากผืนป่าสู่ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอด" และรางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศ ได้นำโครงการ "วิถีชองจากผืนป่า สู่ภูมิปัญญา รักษาสืบสานต่อยอด" โดยทั้ง 2 โครงการนี้ เป็นน้อง ๆ นักศึกษากลุ่ม Gen A  ที่คิดโครงการทำร่วมกับพื้นที่ชุมชนในตำบลช้างทูน อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด 

ความโด่นเด่นของพื้นที่คือระกำจำนวนมากที่อยู่บนเนินเขา

แรงบันดาลใจในความสำเร็จครั้งนี้ เป็นโครงการที่ต่อยอดจากรุ่นพี่เมื่อปีที่แล้ว ในเรื่องของสมุนไพร "ระกำ" ซึ่งเป็นพืชโด่ดเด่นของจังหวัดตราด เราจึงเลือกศึกษาเกี่ยวกับระกำข้นและระกำชายป่า อีกทั้งยังมีในเรื่องการต่อยอดสมุนไพรและการสร้างมูลค่า จึงเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ชุมชนภายใต้แบรนด์ "ชองสำเหร่" เกี่ยวกับชาติพันธุ์ชองสำเหร่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รวมตัวกันในหมู่บ้านช้างทูน มีวัฒนธรรมและภาษาเป็นของตนเอง โดยใช้ภาษาชองในการสื่อสาร (ไม่ใช้ภาษาเขมร และภาษาไทย)

นำสมุนไพรและระกำชายป่ามาต่อยอด

เมื่อชาวชองเก่งในเรื่องสมุนไพรเป็นอย่างมาก ทางกลุ่มGen A จึงลงไปต่อยอดเรื่องของผลิตภัณฑ์ โดยเล็งเห็นว่า ระกำ เป็นผลไม้ที่ชาวชองชอบนำมาไว้ประกอบอาหารพื้นถิ่นในหลาย ๆ อย่าง เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ควรหาวิธีทำอย่างไรที่จะยืดอายุของระกำให้ชาวชองเก็บไว้ได้นานที่สุด

ทางกลุ่มจึงคิดที่จะต่อยอดในเรื่องของการปลูกไว้ใกล้ชายป่าเพื่อเก็บง่าย ชาวบ้านไม่ต้องขึ้นเขาเข้าไปในป่าลึก ชาวบ้านก็จะปลอดภัยจากช้างป่า ด้วยการนำระกำและสมุนไพรมาปลูกไว้ใกล้บ้าน นอกจากนี้ยังช่วยคิดในการนำวิธีถนอมอาหารเข้ามาใช้ เพื่อให้ระกำนั้นเก็บไว้ได้นานตลอดทั้งปี และยังพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก และของฝากจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

อ.ชัชวาลย์ มากสินธ์ นักปั้นเมล็ดพันธ์ุ GEN A

อาจารย์ชัชวาลย์ มากสินธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพัฒนาชุมชน นักปั้นเมล็ดพันธ์ุ GEN A จิตอาสาเปลี่ยนแปลงชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี กล่าวว่า การพัฒนาเด็กในปัจจุบัน นับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เด็กสายพันธุ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Gen Z หรือ Alpha เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้จะมีโลกส่วนตัวสูง สามารถเรียนรู้อะไรได้ด้วยตัวเอง แตกต่างจากเด็กรุ่นก่อนที่ต้องเรียนรู้ในโรงเรียน และต้องเชื่อครูทุกอย่าง เราต้องปรับ Mindset ใหม่ ให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ระหว่างกัน วิเคราะห์ต้นทุนหรือศักยภาพของแต่ละคนให้เจอ การส่งนักศึกษาไปแข่งขันทางวิชาการนั้น จำเป็นต้องเน้นความเป็นทีม เรียนรู้การทำงานให้เห็นเห็นศักยภาพซึ่งกันและกัน และจะเกิดการ "ออสโมซิส" ถ่ายทอดลงไปจนเกิดกระบวนการเรียนรู้ ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่หนึ่ง ที่อาจารย์ก็ต้องเปิดใจกว้าง ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง และพยายามเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับเด็ก จะทำให้ตัวเราเข้าใจและสามารถเติมเต็มแนวคิดให้กับเขาได้ อันนี้ คือกลไกสำคัญ ในการทำงาน คือ เชื่อมั่นในศักยภาพของเด็ก พยายามค้นหา และให้โอกาสเขาในการที่จะพัฒนาตัวเองให้ได้มากที่สุด

ชุมชนก็เป็นเหมือนห้องเรียน เป็นเหมือนพื้นที่ที่เด็กสามารถลงไปเรียนรู้ได้ นักศึกษาทุกคนก็ไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวบ้าน โดยจะมีปราชญ์ชาวบ้านแต่ละคน ที่มีความรู้ ประสบการณ์ตรง ที่จะสามารถถ่ายทอดให้กับเด็กของเราได้ เรามองเรื่องของการเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นส่วนสำคัญ เมื่อเราพาเด็กเราออกไปสู่นอกห้องเรียน เด็กก็จะนำความรู้ในเชิงวิชาการที่ติดตัวพวกเค้าไปด้วย ได้เข้าไปช่วย แลกเปลี่ยน หรือไม่ก็อาจจะช่วยกระตุ้นให้ชุมชนเริ่มหันกลับมามองโจทย์ มองปัญหา แล้วก็เอามาร่วมกันคิด ร่วมกันพัฒนา ร่วมกันในการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน สิ่งที่ได้แน่คือ พลังเล็ก ๆ ของเด็ก ๆ ที่เข้าไปในพื้นที่ หลายคนอาจจะมองว่ายังเป็นแค่นักศึกษา จะเข้าไปเป็นกลไกขับเคลื่อนชุมชนได้มากน้อยแค่ไหน

เมล็ดพันธ์ุสู่ชุมชนที่ยั่งยืน

แต่ผมคิดว่ากลไกอย่างหนึ่งที่เด็กนั้นสามารถทำได้เลย คือการไปเป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจให้กับชาวบ้าน ให้กับพี่ป้าน้าอา ได้เกิดมีพลังเล็ก ๆ ขึ้นมา ให้เขารู้สึกว่า เขาจะต้องมาร่วมกันคิด ร่วมกันมอง ว่าเขาอยากจะแก้ไขปัญหาชุมชนยังไงด้วย โดยมีนักศึกษาเราเป็นเหมือนพลังในการขับเคลื่อน ผมคิดว่าเด็ก ๆ เหล่านี้ก็เหมือนกับเป็นสารตั้งต้น ในการลงไปช่วยชุมชนทำงาน ร่วมกันพัฒนาโจทย์ แล้วก็สามารถส่งไม้ต่อให้กับนักวิชาการ อาจารย์ ในมหาวิทยาลัยลงไปทำวิจัย หรือว่าลงไปทำโครงการพัฒนาได้ ผมคิดว่ามันคือการทำงานในรูปแบบที่ เด็กเปรียบเสมือนต้นน้ำ ส่วนอาจารย์และนักวิชาการ ก็เปรียบเสมือนกลางน้ำ และมหาวิทยาลัยหรือองค์กรต่าง ๆ ก็เปรียบเสมือนปลายน้ำ ที่สามารถส่งต่อเพื่อชุมชนที่เข้มแข็งได้


SHARE LineFacebookTwitterInstagramTikTokRedditTelegram   หน่วยประชาสัมพันธ์ งานบริหารงานทั่วไป กองกลาง สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี


ค้นหาบทความ
หน่วยประชาสัมพันธ์ งานบริหารงานทั่วไป กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
41 ม.5 ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทบุรี 22000 โทร.0-3931-9111 ต่อ 0 อีเมล์ saraban@rbru.ac.th
©2024 RBRU PUBLIC RELATIONS
POWERED BY : KRITIDECH MONGKOLKIT