ม.รำไพฯ กับการเสริมพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง
ณพล วงศ์ชัย
2024/05/24 16:00 น. 🔎 55 Views |
มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ให้การต้อนรับผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย
ความจำเป็นของการเสริมพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง
ชุมชนท้องถิ่นเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคม มีความสำคัญหลายด้าน เช่น เป็นเครื่องมือที่สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนในระบบสังคม , เป็นที่ตัวรวมของคนในสังคมให้เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง เช่น กลุ่มหัตถกรรมในท้องถิ่น กลุ่มเกษตรกรในท้องถิ่น กลุ่มประมงท้องถิ่น เป็นต้น ดังนั้นการเสริมพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ชุมชนท้องถิ่นมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจในภาพรวม และสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้
มหาวิทยาลัย กับภารกิจด้านการพัฒนาท้องถิ่น
ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีนั้น ถือเป็นเป็นยุทธศาสตร์หลัก โดยการบูรณาการพันธกิจสัมพันธ์สู่การพัฒนาท้องถิ่น ใช้หลักการทํางานเชิงพื้นที่ (Area Based) เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการพัฒนา สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ สร้างความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองและจัดการตนเองได้ โดยการมีส่วนร่วมของคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย บุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยในการนำองค์ความรู้ทางวิชาการเข้าไปแก้ปัญหา พัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น สามารถเพิ่มรายได้ ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
การลงพื้นที่ตรวจราชการของหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง อว.
ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คุณสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมคณะทำงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการตามโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่น กิจกรรมเสริมพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ในเรื่องของระบบการจัดการป่าชายเลน พื้นที่เขาสำเภาคว่ำ จังหวัดจันทบุรี และการฝังคาร์บอนในปะการังเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพของปูและสาหร่ายขนาดใหญ่ สำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำในพื้นที่เกาะหมาก จังหวัดตราด
ผลงานบนเกาะหมาก ที่มหาวิทยาลัยได้ฝากไว้
ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2565 - 2566 มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูปะการัง เพื่อรักษาระบบนิเวศของท้องทะเลที่เกาะหมาก เป็นการส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวแบบ “โลว์คาร์บอน” หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ จนทำให้ชุมชนเกาะหมาก คว้ารางวัลอันดับ 2 ของโลกด้านการจัดการและการฟื้นฟูปะการัง และมีการต่อยอดเป็นโครงการฝังคาร์บอนในปะการัง เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพของปูและสาหร่ายขนาดใหญ่ สำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำในพื้นที่เกาะหมาก จังหวัดตราด นับเป็นการใช้งานวิจัยในการแก้ไขปัญหาด้านความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ และทรัพยากร สอดคล้องกับแผนงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เพื่อบริการวิชาการแก่หน่วยงานในท้องถิ่น
พื้นที่เขาสำเภาคว่ำ อีกชุมชนสำคัญที่มหาวิทยาลัยขับเคลื่อน
ในส่วนของชุมชนสำเภาคว่ำนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีได้ดำเนินงานโครงการ การทำอิฐบล็อกจากขยะพลาสติก การเพาะกล้าต้นโกงกางในกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างคณะ สามารถตอบโจทย์ความต้องการและแก้ปัญหาให้กับชุมชนได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งทางคณะทำงานของผู้ตรวจราชการกระทรวง อว.ได้แนะนำให้ประสานความร่วมมือกับกองส่งเสริมและประสานประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวง ในเรื่องของการผลิตเครื่องมือช่วยในการบดอัดพลาสติก เพื่อนำมาใช้ผลิตอิฐบล็อกในชุมชน พร้อมทั้งบริการวิชาการให้กับคนในชุมชน ทั้งด้านการ Upskill และ Reskill และส่งเสริมความรู้เพิ่มเติม เพื่อการแก้ปัญหาของชุมชนได้
บทสรุป
การเดินทางมาตรวจราชการ ของผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจติดตามการทำงานของหน่วยงานรัฐ ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และผลสัมฤทธิ์ของนโยบายรัฐบาลหรือไม่ ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ที่สามารถตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ รองรับภารกิจการให้บริการวิชาการแก่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยปรัชญาและวิสัยทัศน์ในการให้บริการวิชาการและนำวิชาการออกแก่สังคม สืบสานแนวพระราชดำริ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นภาคตะวันออกสู่สากล ด้วยคุณภาพและบริการ ให้สมกับเป็นองค์กรที่เป็นเลิศด้านการพัฒนาท้องถิ่นแห่งภาคตะวันออกอย่างแท้จริง
41 ม.5 ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทบุรี 22000 โทร.0-3931-9111 ต่อ 0 อีเมล์ saraban@rbru.ac.th
POWERED BY : KRITIDECH MONGKOLKIT