ID | RBRU PUBLIC RELATIONS - Official Site

HOME > CONTENT > ปลูกหญ้าแฝกนำร่องเสริมคันดินบ้านพักเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย

ปลูกหญ้าแฝกนำร่องเสริมคันดินบ้านพักเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย
กฤติเดช มงคลกิจ

2024/01/17 10:00 น.  🔎 261 Views

มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มีการก่อสร้างอาคารและปรับปรุงพื้นที่หลายแห่งภายในมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง จนเป็นหนึ่งในจุดเด่นที่ดึงดูดให้ผู้พบเห็นและเข้ามาใช้บริการเกิดความประทับใจ แต่เบื้องหลังการปรับภูมิทัศน์เหล่านี้ นอกจากจะต้องให้ออกมาสวยงามและใช้งานได้ดีแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนควบคู่กันไป และวันนี้ เราจะมาติดตามโครงการนำร่องปลูกหญ้าแฝกภายในมหาวิทยาลัยกัน

บ้านหลังใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยได้ทำการรื้อถอนบ้านพักเจ้าหน้าที่บุคลากรของมหาวิทยาลัย ซึ่งเดิมเป็นอาคารไม้ที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมออกบางส่วน และได้รับงบประมาณในการก่อสร้างที่พักหลังใหม่ทดแทน บริเวณด้านหลังแฟลตที่พักริมกำแพงมหาวิทยาลัย เป็นอาคาร 2 ชั้น แต่ด้วยที่ตั้งอยู่บนไหล่เขาและถมที่ยกสูง ปัจจุบันยังไม่มีการปลูกต้นไม้ใด ๆ และอยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นที่ งานอาคารสถานที่และบริการ สำนักงานอธิการดี จึงมีแนวคิดในการปลูกพืชคลุมดินด้วยพืช 2 ชนิด คือหญ้าแฝกและใบมินต์ เพื่อรักษาแนวตลิ่งคันดินไม่ให้พังทลาย และรักษาความชุ่มชื้นให้กับพื้นดิน อีกทั้งบริเวณโดยรอบเป็นแนวป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จึงใช้ธรรมชาติในการสร้างสรรค์มิให้เสียภูมิทัศน์ดั้งเดิม

หญ้าแฝกมหัศจรรย์แห่งพืชคลุมดิน

หญ้าแฝก เหมาะกับการนำมาปลูกพืชบำรุงดิน สามารถแตกหน่อออกเป็นกอเบียดกันแน่นได้ง่าย ทนทานต่อสภาพอากาศและไม่ต้องดูแลมาก สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยหน่อและเจริญเติบโตได้ดีทุกฤดูกาล มีระบบรากที่ยาว กระจายได้ทั่วและลึก รากฝอยจะเติบโตและสานกันแน่น ช่วยอุ้มน้ำได้เป็นอย่างดี บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์ ปรับตัวกับสภาพต่าง ๆ ได้และทนทานต่อโรคพืชทั่วไป มักนำมาปลูกพืชคลุมดินในพื้นที่สูงตามแนวสันเขา โดยเฉพาะในภาคเหนือเพื่อป้องกันดินถล่มและการกัดเซาะจากภัยธรรมชาติ

สนอ. ร่วมมือร่วมใจปลูกหญ้าแฝก 1 พันต้น

กลุ่มแม่บ้านและเจ้าหน้าที่ ของงานอาคารสถานที่และบริการ ร่วมใจกันนำหญ้าแฝกจำนวน 1,000 กล้ามาร่วมปลูกบริเวณโดยรอบอาคารที่พักบุคลากรหลังใหม่ โดยปลูกบนไหล่ดินแบบเว้นระยะห่างประมาณ 15-30 ซม. อีกทั้งเจ้าหน้าที่บางส่วนเคยมีประสบการณ์ในการปลูกและดูแลหญ้าแฝกมาก่อน ทั้งจากประสบการณ์ทำงานและการศึกษาดูงานในช่วงที่ผ่านมา จึงได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกัน พร้อมกันนี้บริเวณด้านบน ยังนำต้นมินต์มาปลูกคลุมดิน เนื่องจากเป็นพืชใบใหญ่ ดูแลง่าย และเก็บความชื้นใต้ผิวดินได้ดีอีกด้วย

ธรรมชาติบำบัดสู่การประยุกต์ใช้

นายพิชัย เหล่าศรีวิจิตร เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม ของงานอาคารสถานที่ฯ กล่าวว่า การประยุกต์ใช้หญ้าแฝกภายในมหาวิทยาลัย เป็นการผสานระหว่างโครงการสำนักงานสีเขียว BCG SDG และโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว ที่เน้นการใช้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการดำเนินงานให้เกิดความยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกคน หากเราแก้ปัญหาด้วยการปูพื้นซีเมนต์ เราจะได้ความร้อนสะสมสะท้อนเข้าสู่อาคาร แต่ถ้าใช้พืชคลุมดิน นอกจากจะลงทุนน้อยแล้ว เรายังสามารถลดความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร แก้ปัญหาดินพัง และสร้างระบบนิเวศให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ดีกว่า และยังได้ความร่วมมือจากบุคลากรหลายฝ่ายมาร่วมสร้างกิจกรรมดี ๆ เช่นที่เกิดขึ้นในวันนี้อีกทางหนึ่งด้วย

ติดตามเพื่อเติบโต

หลังจากนี้ต้องติดตามผลและหมั่นแวะเวียนมาดูแล เพื่อให้หญ้าแฝกและพืชคลุมดินเหล่านี้ สามารถเจริญเติบโตและหยั่งรากลึกให้ได้มากเพียงพอ เนื่องจากในปีนี้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ และเมื่อพื้นที่นี้มีหญ้าแฝกขึ้นได้มากเพียงพอ ก็จะสามารถนำกอหญ้าที่เพิ่มพูนไปขยายพื้นที่ปลูก เพื่อลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการดูแลพื้นที่อื่น ๆ ภายในมหาวิทยาลัยได้อีกทางหนึ่งด้วย

สนอ.ยินดีให้คำแนะนำการปลูกหญ้าแฝก

สำนักงานอธิการบดี มุ่งหวังที่จะให้บุคลากรมีความรู้ความสามารถ และทักษะด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเหล่านี้ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดภายในมหาวิทยาลัย และสามารถแนะนำความรู้เหล่านี้ขยายผลสู่ชุมชนและภายนอกได้อย่างยั่งยืน ผู้สนใจสามารถขอรับการสนับสนุนและความรู้เพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานอธิการบดี โทร.08-6318-7855


SHARE LineFacebookTwitterInstagramTikTokRedditTelegram   หน่วยประชาสัมพันธ์ งานบริหารงานทั่วไป กองกลาง สำนักงานอธิการบดี
มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี


ค้นหาบทความ
หน่วยประชาสัมพันธ์ งานบริหารงานทั่วไป กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
41 ม.5 ต.ท่าช้าง อ.เมือง จ.จันทบุรี 22000 โทร.0-3931-9111 ต่อ 0 อีเมล์ saraban@rbru.ac.th
©2024 RBRU PUBLIC RELATIONS
POWERED BY : KRITIDECH MONGKOLKIT